ความรู้งานก่อสร้าง “การต่อเติมหลังคากันสาด”

สาระน่ารู้ :

การต่อเติมหลังคากันสาด หนึ่งในประเด็นที่หลายคนสงสัยก็คือ จะทำหลังคาใสๆ ให้แสงลอดผ่านได้หรือจะทำหลังคาทึบบังแดดไปเลยดี วันนี้จะขอแนะนำแนวทางให้พอนึกภาพกันออก เพื่อเป็นไอเดียในการต่อเติมหลังคาที่ตรงใจและตอบโจทย์การใช้งานสำหรับเจ้าของบ้าน
หลังคาใสกับหลังคาโปร่งแสง จะคล้ายกันตรงที่แสงส่องผ่านได้ทั้งคู่ โดยหลักแล้วถ้าพูดถึงหลังคาใส ย่อมต้องมองเห็นทะลุไปด้านนอกได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าเป็นหลังคาโปร่งแสงนั้นเราจะนึกถึงวัสดุที่ขุ่นกว่า โดยจะมองทะลุอีกฝั่งได้ชัดมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับปริมาณที่แสงส่องผ่านได้ หากเป็นวัสดุที่แสงส่องผ่าน 80% จะมองทะลุได้ชัดกว่า วัสดุที่แสงส่องผ่านเพียง 40% เป็นต้น สำหรับครั้งนี้เพื่อไม่ให้งง จะขอเรียกหลังคาใสรวมไปกับ “หลังคาโปร่งแสง” ด้วยเลย
ส่วนหลังคาทึบแสง ก็จะหมายถึงหลังคาที่มุงวัสดุทึบ พูดง่ายๆ ว่าอยู่ใต้หลังคาทึบแสงแล้วแสงแดดจะไม่ส่องเข้ามาในพื้นที่ใช้สอย (แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่ร้อน เพราะถึงแม้แดดจะไม่ส่องแต่ความร้อนก็ยังผ่านเข้ามาได้อยู่ดี)

หลังคาโปร่งแสงกับหลังคาทึบแสง เลือกใช้แบบไหนดี

​​​​​จะเลือกหลังคาโปร่งแสงหรือทึบแสงดีนั้น อันดับแรกควรดูเรื่องการใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น

ต่อเติมหลังคากันสาดเหนือประตูหน้าต่าง หากเป็นทิศตะวันตกซึ่งต้องการกันทั้งแดดและฝน ก็ควรเลือกหลังคาทึบแสง แต่ถ้าเป็นทิศเหนือที่แดดร่มทั้งวัน อาจเลือกทำหลังคาโปร่งแสงเพื่อกันฝนโดยให้รับแสงธรรมชาติได้ทั้งวัน

       
ต่อเติมหลังคาลานซักล้าง  หากต้องการทำหลังคากันฝนแต่ให้รับแดดขณะตากผ้าด้วย จะเหมาะกับหลังคาโปร่งแสง
 
ต่อเติมหลังคาโรงจอดรถ ครัว ห้องเก็บของ พื้นที่พักผ่อนนั่งเล่น อันนี้ขึ้นอยู่กับทิศทางแดดและรายละเอียดการใช้สอย แต่ละบ้านมีความต้องการไม่เหมือนกัน หรือถ้าต้องการแสงธรรมชาติแค่บางส่วน อาจใช้ผสมกัน เช่น ห้องครัว อาจทำหลังคาโปร่งแสงให้แดดส่องบริเวณชั้นวางเครื่องครัวกับอ่างล้างจาน ส่วนบริเวณตู้เย็นและที่เก็บอาหารใช้หลังคาทึบ เป็นต้น
 

วัสดุมุงหลังคาโปร่งแสงและทึบแสง มีแบบไหนให้เลือกบ้าง

 
หลังคาแบบโปร่งแสงและทึบแสงมีวัสดุมุงหลายแบบหลายสีให้เลือก สำหรับหลังคาโปร่งแสงจะมีวัสดุแผ่นเรียบอย่างโพลีคาร์บอเนต (แบบแผ่นตัน แบบแผ่นลูกฟูก แบบผิวส้ม) และอะคริลิก (มีทั้งรุ่นธรรมดา รุ่นคุณภาพสูงเพิ่มความแข็งแกร่ง รุ่นป้องกันความร้อน) นอกจากนี้ยังมีไฟเบอร์กลาสทั้งแผ่นเรียบและแผ่นลอน กับอีกวัสดุคือ UPVC ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นลอน (หากเป็นสีขาวขุ่นแสงจะส่องผ่านเพียง40%) 
ส่วนวัสดุสำหรับต่อเติมหลังคาแบบทึบที่นิยมกันมากจะ ได้แก่ เมทัลชีท เป็นแผ่นหลังคาเหล็กรีดลอนซึ่งมีรุ่นธรรมดาและรุ่นติดตั้งฉนวนในตัว) กับอีกชนิดซึ่งมีรูปลอนใกล้เคียงกัน คือ UPVC ซึ่งมักมีฉนวนกันความร้อนสอดไส้ไว้ด้วย อีกวัสดุที่น่าสนใจคือ ไวนิล มีลักษณะเป็นชิ้นยาว หน้ากว้าง 12.5 ซม. ยาว 4-6 เมตร ตัวแผ่นถูกออกแบบให้ล็อกต่อกันได้เลย สำหรับกรณีที่ต้องการต่อเติมหลังคาแบบทึบควบคู่กับหลังคาโปร่งแสง อาจเลือกใช้ กระเบื้องหลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์ ซึ่งมีกระเบื้องโปร่งแสง (วัสดุไฟเบอร์กลาสหรือโพลีคาร์บอเนต) รูปลอนเดียวกันให้ใช้ด้วย

 

สรุปข้อดี ข้อคำนึง ของหลังคาโปร่งแสงและทึบแสง

หลังคาโปร่งแสง จะได้เปรียบกว่าหลังคาทึบแสงในเรื่องความสว่างและบรรยากาศจากแสงธรรมชาติ (อาจเหมาะกับคอนเซปต์ประหยัดพลังงานตรงที่ช่วยลดการเปิดไฟได้) และยังสร้างลูกเล่นการตกแต่งแสงเงาได้มากกว่า ข้อสำคัญในการเลือกใช้หลังคาโปร่งแสงคือ ควรดูปริมาณและทิศทางแดดให้ดีเพื่อไม่ให้แดดส่องจนร้อนเกินไป และอาจต้องทำใจว่าเมื่อใช้งานไปนานจะมองเห็นคราบสกปรกได้ง่าย รวมถึงไม่เหมาะกับการติดตั้งฉนวนกันร้อนกันเสียง เนื่องจากจะทำลายทั้งความสวยงามและจุดประสงค์หลักที่ต้องการให้แสงส่องผ่านได้

 

ส่วนหลังคาทึบแสง ถ้าพูดถึงเรื่องบรรยากาศรับแสงธรรมชาติ ความสวยงามเชิงทันสมัย และการสร้างลูกเล่นตกแต่ง อาจหลากหลายน้อยกว่าหลังคาโปร่งแสง ในขณะเดียวกัน หากเราจำเป็นต้องสร้างส่วนต่อเติมในพื้นที่ที่โดนแดดแรงนานๆ หลังคาทึบแสงจะตอบโจทย์เรื่องกันแดดกันร้อนได้ดีกว่า เพราะนอกจากแดดจะไม่ส่องโดยตรงแล้ว ยังสามารถติดตั้งฉนวนกันร้อนและกันเสียงใต้วัสดุมุงได้ด้วยโดยไม่ต้องคำนึงเรื่องความสวยงามจากภายนอก นอกจากนี้ วัสดุหลังคาทึบแสงมักมีราคาถูกกว่าหลังคาโปร่งแสง (เมื่อเทียบระดับคุณภาพการใช้งานที่ใกล้เคียงกัน)

 

ตัวอย่างหลังคาแบบโปร่งแสง

ตัวอย่างหลังคาแบบทึบแสง
     
(cr. pinterest)
Read More

ความรู้งานก่อสร้าง “ปัญหาพื้นที่จอดรถทรุด”

สาระน่ารู้ : ปัญหาพื้นที่จอดรถทรุด

สำหรับบ้านที่อยู่กรุงเทพฯ, ปริมณฑล, แถวภาคกลาง หรือบ้านที่อยู่บนชั้นดินอ่อนพื้นที่ตามท้องนา ห้วย หนอง คลอง บึง ต้องเคยเจอปัญหาพื้นจอดรถเกิดการทรุดตัว, มีรอยร้าว หรือรอยแยกกันทั้งนั้น เพราะการอยู่บนชั้นดินอ่อนคือความเสี่ยงอย่างหนึ่งในการเกิดปัญหานี้ วันนี้เรามี 3 วิธี แก้ปัญหาพื้นจอดรถทรุด มาฝาก เพื่อให้ผู้ที่ประสบปัญหานี้เข้าใจและมีวิธีแก้ไขกันครับ

 

วิธีแก้ไขปัญหาพื้นจอดรถทรุด

  • สร้างพื้นจอดรถบนโครงสร้างที่มีเสาเข็มรองรับ และความยาวของเสาเข็มต้องยาวใกล้เคียงกับตัวบ้าน จึงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะจะทำให้การทรุดตัวของทั้งบ้าน และที่จอดรถเกิดความเท่ากัน แต่ก็มีข้อเสียอยู่คือ ทำให้สิ้นเปลืองค่าก่อสร้างมากขึ้น และรอยต่อระหว่างที่จอดรถกับถนนหน้าบ้านอาจเกิดรอยแตกขึ้นได้ เนื่องมาจากการทรุดตัวของถนน แล้วเราก็ต้องมาแก้ไขในส่วนนี้เพิ่มเติมอีก เช่นการเทพื้นทำทางลาด (Ramp) เป็นต้น แต่ก็ดีกว่าการปล่อยให้พื้นจอดรถทรุดลงไปเรื่อย ๆ

 

  • ก่อสร้างพื้นจอดรถบนเสาเข็มสั้นแบบปูพรม โดยปกติที่นิยมใช้กันคือเสาเข็มสั้น เช่น เสาเข็มหกเหลี่ยม หรือเสาเข็มรูปตัวไอความยาวประมาณ 2-6 เมตร มาตอกปูพรมทุกระยะ 1 เมตร เป็นต้น เพื่อช่วยชะลอการทรุดตัวของพื้นที่จอดรถ อย่างไรก็ตามวิธีนี้แม้จะมีเสาเข็มช่วยรับน้ำหนักแต่พื้นก็ยังเกิดการทรุดตัวอยู่ดี ดังนั้นบริเวณที่จอดรถที่ติดกับตัวบ้านควรแยกโครงสร้างออกจากกัน ด้วยการตัดแยกรอยต่อระหว่างพื้นโครงสร้างที่วางบนคานและพื้นโครงสร้างที่วางบนดิน หรือเรียกสั้น ๆ ว่าการการตัด Joint โครงสร้างไม่ให้ติดกันก็ได้ (วิธีที่นิยมใช้กัน คือ วิธีการตัด Joint โดยการโรยกรวด หรือกรณีที่รอยร้าวไม่มากจะใช้วิธีอุดรอยต่อด้วยโฟมเส้นแล้วยาแนวด้านบนด้วยวัสดุอุดรอยต่อ อาทิ PU หรือ ซิลิโคน หรือยางมะตอย)

 

  • ให้ก่อสร้างพื้นจอดรถบนพื้นดิน (Slab On ground) โดยไม่มีเสาเข็มหรือโครงสร้างรองรับ วิธีนี้เป็นวิธีที่ถูกและประหยัดที่สุด ที่สำคัญเหมาะกับการก่อสร้างพื้นจอดรถบนดินแข็งด้วย แต่มีข้อแม้อยู่ที่หากตั้งอยู่บนดินอ่อนก็จำเป็นต้องบดอัดดินให้แน่นก่อนทำการเทพื้นที่จอดรถ จากนั้นช่างจะทำการตัดแยกโครงสร้างส่วนที่จอดรถและโครงสร้างโดยรอบออกจากกันครับ

 

สรุปวิธีแก้ไขปัญหาพื้นจอดรถทรุดแบบสั้นกระชับเข้าใจง่ายมากขึ้น

วิธีที่ 1 : เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะไม่เกิดการทรุดตัวที่แตกต่างกันระหว่างตัวบ้านและที่จอดรถ แต่ค่าก่อสร้างอาจสูง และต้องแก้ปัญหารอยต่อระหว่างที่จอดรถกับถนนหน้าบ้านต่อ เนื่องมาจากถนนหน้าบ้านอาจเกิดการทรุดตัว

วิธีที่ 2 : จะมีการทรุดตัวปานกลางขึ้นกับความยาวเสาเข็ม ค่าใช้จ่ายปานกลาง

วิธีที่ 3 : แม้วิธีนี้จะง่าย และค่าใช้จ่ายถูกที่สุด แต่อาจเกิดปัญหาการทรุดตัวมากที่สุด หมายถึงเราต้องคอยตามซ่อมไปเรื่อย ๆ   อีกทั้งวิธีนี้ยังไม่ควรลงทุนทำพื้นสวย ๆ เช่น ทรายล้าง, คอนกรีตพิมพ์ลาย, ปูกระเบื้องแพง ๆ เลย เนื่องจากต้องซ่อมบ่อยนั่นเอง

 

         

 

 

 

Read More

ความรู้งานก่อสร้าง “แผ่นผนังและฝ้า”

สาระน่ารู้ : งานก่อสร้าง

เรื่อง : แผ่นผนังและฝ้า แผ่นยิปซั่มบอร์ด และ แผ่นสมาร์ทบอร์ด

 

แผ่นยิปซั่มบอร์ด และ แผ่นสมาร์ทบอร์ด คือ วัสดุหลักสำหรับการทำฝ้าเพดานและฝาผนัง ถึงแม้ทั้งคู่จะดูคล้ายกัน แต่กลับมีความแตกต่างในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของคุณสมบัติ พื้นที่การใช้งาน และวิธีการติดตั้ง วันนี้เราจะมาอธิบายถึงความแตกต่างเหล่านี้เพื่อให้คุณได้เลือกใช้อย่างถูกวิธี

แผ่นยิปซั่มบอร์ด

แผ่นยิปซัมบอร์ด ผลิตจากแร่ยิปซั่มที่นำมาขึ้นรูปให้เป็นแผ่น ประกบทับด้วยกระดาษเหนียวอัดแน่นที่ด้านหน้าและด้านหลัง จึงมีผิวหน้าที่เรียบเนียนสม่ำเสมอ แต่คงไว้ซึ่งความแข็งแรงทนทาน แผ่นยิปซั่มบอร์ดมีน้ำหนักเบา และมีหลายชนิดให้เลือกใช้เพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่แตกต่าง เช่น ชนิด ทนชื้น, กันร้อน และทนไฟ เป็นต้น

แผ่นสมาร์ทบอร์ด

แผ่นสมาร์ทบอร์ด คือ แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์คุณภาพสูง ผลิตจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์, ซิลิก้า และเส้นใยเซลลูโลสชนิดพิเศษ ผ่านกระบวนการอบไอน้ำแรงดันสูง ช่วยให้แผ่นมีความแข็งแรง ไม่แตกหักง่าย ทนได้ทั้งแดดและฝน อีกทั้งยังไม่เป็นอาหารของปลวก แผ่นสมาร์ทบอร์ด  มีหลายรุ่นให้เลือกใช้ตามประเภทการใช้งานที่ต้องการ เช่น รุ่น ขอบเรียบ, ขอบลาด 2 ด้าน และ ระบายอากาศ โพรเทคชั่น เป็นต้น

 

     แผ่นยิปซั่มบอร์ด เหมาะสำหรับงานฝ้าเพดานและผนังภายใน เพราะมีผิวหน้าที่เรียบเนียนสวยงาม สามารถฉาบเก็บรอยต่อได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย อีกทั้งยังมีฝุ่นน้อยและตัดแต่งได้ด้วยคัตเตอร์ ทำให้ง่ายต่อการเจาะซ่อมแซม สำหรับการใช้งานบริเวณฝ้าภายนอก สามารถเลือกใช้แผ่นยิปซั่มบอร์ดชายคาเพื่อตอบโจทย์เรื่องความทนทานต่อสภาพอากาศ ฝ้าเพดานและผนังห้องนอนฝ้าหลุม ฝ้าเล่นระดับ ในห้องนั่งเล่นฝ้าชายคา

 

   แผ่นสมาร์ทบอร์ด  เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ต้องการความทนทานเป็นพิเศษ เพราะสามารถรับแรงกระแทกได้ดี ไม่แตกหักง่าย ทนทานต่อแดดและฝน และที่สำคัญไม่เป็นอาหารของปลวก จึงนำไปใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นงานฝ้าเพดาน, ฝาผนัง และพื้น ฝ้าภายนอกผนังตกแต่งภายนอก    

Read More