ความรู้งานก่อสร้าง “ปัญหาพื้นที่จอดรถทรุด”

สาระน่ารู้ : ปัญหาพื้นที่จอดรถทรุด

สำหรับบ้านที่อยู่กรุงเทพฯ, ปริมณฑล, แถวภาคกลาง หรือบ้านที่อยู่บนชั้นดินอ่อนพื้นที่ตามท้องนา ห้วย หนอง คลอง บึง ต้องเคยเจอปัญหาพื้นจอดรถเกิดการทรุดตัว, มีรอยร้าว หรือรอยแยกกันทั้งนั้น เพราะการอยู่บนชั้นดินอ่อนคือความเสี่ยงอย่างหนึ่งในการเกิดปัญหานี้ วันนี้เรามี 3 วิธี แก้ปัญหาพื้นจอดรถทรุด มาฝาก เพื่อให้ผู้ที่ประสบปัญหานี้เข้าใจและมีวิธีแก้ไขกันครับ

 

วิธีแก้ไขปัญหาพื้นจอดรถทรุด

  • สร้างพื้นจอดรถบนโครงสร้างที่มีเสาเข็มรองรับ และความยาวของเสาเข็มต้องยาวใกล้เคียงกับตัวบ้าน จึงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะจะทำให้การทรุดตัวของทั้งบ้าน และที่จอดรถเกิดความเท่ากัน แต่ก็มีข้อเสียอยู่คือ ทำให้สิ้นเปลืองค่าก่อสร้างมากขึ้น และรอยต่อระหว่างที่จอดรถกับถนนหน้าบ้านอาจเกิดรอยแตกขึ้นได้ เนื่องมาจากการทรุดตัวของถนน แล้วเราก็ต้องมาแก้ไขในส่วนนี้เพิ่มเติมอีก เช่นการเทพื้นทำทางลาด (Ramp) เป็นต้น แต่ก็ดีกว่าการปล่อยให้พื้นจอดรถทรุดลงไปเรื่อย ๆ

 

  • ก่อสร้างพื้นจอดรถบนเสาเข็มสั้นแบบปูพรม โดยปกติที่นิยมใช้กันคือเสาเข็มสั้น เช่น เสาเข็มหกเหลี่ยม หรือเสาเข็มรูปตัวไอความยาวประมาณ 2-6 เมตร มาตอกปูพรมทุกระยะ 1 เมตร เป็นต้น เพื่อช่วยชะลอการทรุดตัวของพื้นที่จอดรถ อย่างไรก็ตามวิธีนี้แม้จะมีเสาเข็มช่วยรับน้ำหนักแต่พื้นก็ยังเกิดการทรุดตัวอยู่ดี ดังนั้นบริเวณที่จอดรถที่ติดกับตัวบ้านควรแยกโครงสร้างออกจากกัน ด้วยการตัดแยกรอยต่อระหว่างพื้นโครงสร้างที่วางบนคานและพื้นโครงสร้างที่วางบนดิน หรือเรียกสั้น ๆ ว่าการการตัด Joint โครงสร้างไม่ให้ติดกันก็ได้ (วิธีที่นิยมใช้กัน คือ วิธีการตัด Joint โดยการโรยกรวด หรือกรณีที่รอยร้าวไม่มากจะใช้วิธีอุดรอยต่อด้วยโฟมเส้นแล้วยาแนวด้านบนด้วยวัสดุอุดรอยต่อ อาทิ PU หรือ ซิลิโคน หรือยางมะตอย)

 

  • ให้ก่อสร้างพื้นจอดรถบนพื้นดิน (Slab On ground) โดยไม่มีเสาเข็มหรือโครงสร้างรองรับ วิธีนี้เป็นวิธีที่ถูกและประหยัดที่สุด ที่สำคัญเหมาะกับการก่อสร้างพื้นจอดรถบนดินแข็งด้วย แต่มีข้อแม้อยู่ที่หากตั้งอยู่บนดินอ่อนก็จำเป็นต้องบดอัดดินให้แน่นก่อนทำการเทพื้นที่จอดรถ จากนั้นช่างจะทำการตัดแยกโครงสร้างส่วนที่จอดรถและโครงสร้างโดยรอบออกจากกันครับ

 

สรุปวิธีแก้ไขปัญหาพื้นจอดรถทรุดแบบสั้นกระชับเข้าใจง่ายมากขึ้น

วิธีที่ 1 : เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะไม่เกิดการทรุดตัวที่แตกต่างกันระหว่างตัวบ้านและที่จอดรถ แต่ค่าก่อสร้างอาจสูง และต้องแก้ปัญหารอยต่อระหว่างที่จอดรถกับถนนหน้าบ้านต่อ เนื่องมาจากถนนหน้าบ้านอาจเกิดการทรุดตัว

วิธีที่ 2 : จะมีการทรุดตัวปานกลางขึ้นกับความยาวเสาเข็ม ค่าใช้จ่ายปานกลาง

วิธีที่ 3 : แม้วิธีนี้จะง่าย และค่าใช้จ่ายถูกที่สุด แต่อาจเกิดปัญหาการทรุดตัวมากที่สุด หมายถึงเราต้องคอยตามซ่อมไปเรื่อย ๆ   อีกทั้งวิธีนี้ยังไม่ควรลงทุนทำพื้นสวย ๆ เช่น ทรายล้าง, คอนกรีตพิมพ์ลาย, ปูกระเบื้องแพง ๆ เลย เนื่องจากต้องซ่อมบ่อยนั่นเอง

 

         

 

 

 

Read More

ความรู้งานก่อสร้าง “แผ่นผนังและฝ้า”

สาระน่ารู้ : งานก่อสร้าง

เรื่อง : แผ่นผนังและฝ้า แผ่นยิปซั่มบอร์ด และ แผ่นสมาร์ทบอร์ด

 

แผ่นยิปซั่มบอร์ด และ แผ่นสมาร์ทบอร์ด คือ วัสดุหลักสำหรับการทำฝ้าเพดานและฝาผนัง ถึงแม้ทั้งคู่จะดูคล้ายกัน แต่กลับมีความแตกต่างในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของคุณสมบัติ พื้นที่การใช้งาน และวิธีการติดตั้ง วันนี้เราจะมาอธิบายถึงความแตกต่างเหล่านี้เพื่อให้คุณได้เลือกใช้อย่างถูกวิธี

แผ่นยิปซั่มบอร์ด

แผ่นยิปซัมบอร์ด ผลิตจากแร่ยิปซั่มที่นำมาขึ้นรูปให้เป็นแผ่น ประกบทับด้วยกระดาษเหนียวอัดแน่นที่ด้านหน้าและด้านหลัง จึงมีผิวหน้าที่เรียบเนียนสม่ำเสมอ แต่คงไว้ซึ่งความแข็งแรงทนทาน แผ่นยิปซั่มบอร์ดมีน้ำหนักเบา และมีหลายชนิดให้เลือกใช้เพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่แตกต่าง เช่น ชนิด ทนชื้น, กันร้อน และทนไฟ เป็นต้น

แผ่นสมาร์ทบอร์ด

แผ่นสมาร์ทบอร์ด คือ แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์คุณภาพสูง ผลิตจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์, ซิลิก้า และเส้นใยเซลลูโลสชนิดพิเศษ ผ่านกระบวนการอบไอน้ำแรงดันสูง ช่วยให้แผ่นมีความแข็งแรง ไม่แตกหักง่าย ทนได้ทั้งแดดและฝน อีกทั้งยังไม่เป็นอาหารของปลวก แผ่นสมาร์ทบอร์ด  มีหลายรุ่นให้เลือกใช้ตามประเภทการใช้งานที่ต้องการ เช่น รุ่น ขอบเรียบ, ขอบลาด 2 ด้าน และ ระบายอากาศ โพรเทคชั่น เป็นต้น

 

     แผ่นยิปซั่มบอร์ด เหมาะสำหรับงานฝ้าเพดานและผนังภายใน เพราะมีผิวหน้าที่เรียบเนียนสวยงาม สามารถฉาบเก็บรอยต่อได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย อีกทั้งยังมีฝุ่นน้อยและตัดแต่งได้ด้วยคัตเตอร์ ทำให้ง่ายต่อการเจาะซ่อมแซม สำหรับการใช้งานบริเวณฝ้าภายนอก สามารถเลือกใช้แผ่นยิปซั่มบอร์ดชายคาเพื่อตอบโจทย์เรื่องความทนทานต่อสภาพอากาศ ฝ้าเพดานและผนังห้องนอนฝ้าหลุม ฝ้าเล่นระดับ ในห้องนั่งเล่นฝ้าชายคา

 

   แผ่นสมาร์ทบอร์ด  เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ต้องการความทนทานเป็นพิเศษ เพราะสามารถรับแรงกระแทกได้ดี ไม่แตกหักง่าย ทนทานต่อแดดและฝน และที่สำคัญไม่เป็นอาหารของปลวก จึงนำไปใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นงานฝ้าเพดาน, ฝาผนัง และพื้น ฝ้าภายนอกผนังตกแต่งภายนอก    

Read More

ความรู้งานก่อสร้าง “‘งานซ่อมกระเบื้องหลุดล่อน”

สาระน่ารู้ : งานซ่อมแซมกระเบื้องหลุดล่อน โก่งตัว

เรื่อง  : งานซ่อมแซมกระเบื้องหลุดล่อน โก่งตัว

 

ทำไมกระเบื้องจึงหลุดร่อน โก่งตัว ระเบิด

การที่กระเบื้องหลุดร่อน โก่งตัว ระเบิด มีสาเหตุ อยู่หลายปัจจัย อาทิ เช่น

  1. ปูนที่ใช้ผสมทรายแทนการใช้ปูนกาวปูกระเบื้อง
    ปูนซีเมนต์ผสมทรายจะมีค่าการยึดเกาะที่ต่ำกว่าปูนกาวปูกระเบื้อง จึงทำให้กระเบื้องหลุดร่อน โก่งตัว ระเบิด ได้โดยง่าย
  2. ปูกระเบื้องไม่ถูกต้อง ตามวิธีการที่เหมาะสม
    • การปูกระเบื้อง แบบวิธีปูแบบซาลาเปา
      การปูกระเบื้องแบบซาลาเปา เป็นการใช้ปูนกาว / ปูนซีเมนต์ผสมทราย ป้ายใส่บริเวณใต้กระเบื้องเป็นก้อนๆ การทำแบบนี้ อากาศจะสามารถไหลเข้าไปแทรกตามช่องว่างใต้กระเบื้อง ทำให้การยึดเกาะลดลงจนกระเบื้องหลุดร่อนออกมาได้
    • การปูกระเบื้องแบบขี้หนู
      การปูกระเบื้องแบบขี้หนู เป็นการปรับระดับพร้อมปูกระเบื้องไปในตัว แต่ผลของการปูกระเบื้องด้วยวิธีนี้จะทำให้กระเบื้องมีโอกาสเคลื่อนหรือยุบตัวได้ และจะทำให้เกิดปัญหากระเบื้องกระเดิด หรือหลุดร่อน ระเบิดได้

 

วิธีแก้ไขซ่อมแซมกระเบื้องหลุดร่อน โก่งตัว ระเบิด มีหลายขั้นตอน ตามขั้นตอนดังนี้

กัดซีเมนต์บริเวณที่กระเบื้องหลุดร่อน โก่งตัว ระเบิด แล้วทำความสะอาดพื้นผิวให้ ถ้าพื้นผิวมีรูพรุนมาก ต้องทำให้พื้นผิวซึมซับน้ำให้อิ่มตัวก่อนปูกระเบื้อง

  1. ผสมปูนกาวทีโอเอกับน้ำสะอาด (อัตราส่วน 20 กก : น้ำ 5 ลิตร) ปั่นด้วยสว่านรอบต่ำ ผสมให้เนียนเป็นเนื้อเดียวกัน ทิ้งไว้ให้เคมีบ่มตัวประมาณ 3-5 นาที แล้วกวนส่วนผสมอีกครั้งก่อนนำไปใช้งาน
  2. ใช้เกรียงหวีด้านเรียบ ปาดปูนกาวทีโอเอ ลงบนพื้นหรือผนังที่ต้องการปูกระเบื้อง แล้วใช้เกรียงหวีด้านที่เป็นร่องปาดครูดให้เป็นรอยทาง
  3. ใช้ปูนกาว ทาใต้กระเบื้องให้เต็มแผ่น แล้วประกบกระเบื้องลงบนพื้นผิว ใช้ค้อนยางเกาะให้กระเบื้องติดแน่นกับปูนกาว กดกระเบื้องลงให้หลังกระเบื้องสัมผัสกับปูนกาวเต็มแผ่น
  4. ปรับแต่งกระเบื้องให้ตรงตามแนวที่ต้องการได้ภายใน 15 นาที
  5. ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมงก่อนทำการยาแนว

 

 

                      

.

             

Read More

ความรู้งานก่อสร้าง “ประตูชนิดต่างๆสำหรับงานก่อสร้าง”

สาระน่ารู้ : งานก่อสร้าง

สาระน่ารู้ : เรื่องประตูชนิดต่างๆสำหรับใช้ในงานก่อสร้าง ซ่อมแซมบ้าน รีโนเวทต่อเติมบ้าน

 

ประตูมีหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นประตูไม้จริง, ประตู WPC, ประตู PVC และ ประตู uPVC ซึ่งวัสดุในการทำประตูเหล่านี้ก็จะมีความแตกต่างกันออกไปรวมถึงคุณภาพของประตู คุณสมบัติ ความแข็งแกร่งและทนทานก็จะมีความแตกต่างกันออกไปที่ใช้สำหรับงานก่อสร้าง ซ่อมแซมบ้าน รีโนเวทต่อเติมบ้าน เช่นกัน

 

  • ประตูไม้จริง ประตูไม้จริงคือประตูที่ทำจากไม้ธรรมชาติ โดยประตูไม้จริงสามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับรูปแบบบ้านได้หลากหลายแบบหลายสไตล์ เช่น บ้านแบบคลาสสิค, บ้านแบบโมเดิร์น, บ้านแบบร่วมสมัย และอื่นๆด้วยโทนสีของไม้ที่แตกต่างกัน สำหรับไม้ที่นิยมนำมาทำประตูคือ ไม้แดง ไม้โอ๊ค ไม้เต็ง เนื่องจากเป็นไม้เนื้อแข็งทำให้ประตูบ้านมีความแข็งแรงทนทาน

ข้อดีของประตูไม้จริง: มีความแข็งแรง ทนทาน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ได้สัมผัสถึงไม้จริง

ข้อเสียของประตูไม้จริง: ปลวกสามารถกินได้และอาจส่งผลถึงอนาคตที่เราจะต้องเปลี่ยนประตูใหม่, ประตูหดตัวและขยายตัวออกได้ หากได้รับความชื้นและสามารถพองได้เช่นกัน

 

  • ประตู WPC หรือชื่อในภาษาอังกฤษเรียกว่า (Wood Plastic Composite)  ประตู wpc เป็นประตูที่ใช้ส่วนผสมที่ทำมาจากไม้ผสมกับโพลีเมอร์หลากชนิดหรืออาจจะเข้าใจสั้นๆว่าใช้เศษผงไม้ผสมกับพลาสติกที่ใช้หลายๆส่วนองค์ประกอบมารวมกันและนั้นจึงเป็นจุดแข็งของประตู wpc ซึ่งมีความแข็งแรง ทนทาน ไม่ดูดซึมน้ำ กันความชื้นและปลวก
  1. หมดปัญหาเรื่องมอดและปลวกไปได้เลย ด้วยวัสดุที่ทำมาเป็นพิเศษมีความเป็นไม้จริงผสมกับวัสดุพิเศษที่ปลวกไม่สามารถทำลายได้
  2. ไม่ดูดซึมน้ำ ประตูไม่พอง ไม่เกิดการขยายตัว
  3. มีความแข็งแรงและทนทานสูง
  4. วัสดุไม่ไวไฟ ไม่ลามไฟ

 

  • ประตู PVC เป็นประตูที่พบเห็นได้ทั่วไปเหมาะแก่การนำไปติดตั้งเป็นประตูห้องน้ำซะเป็นส่วนใหญ่ ประตูพีวีซีผลิตจากพีวีซีคุณภาพสูง ที่รับรองว่าไม่ผุพังเมื่อโดนเปียกน้ำ หรือต่อให้มีความชื้น น้ำหนักเบาใช้งานง่าย ทำความสะอาดง่าย ดีไซน์ก็เรียบง่าย และราคาไม่สูงมากนัก ทำให้ประตูพีวีซีสามารถเคลื่อนย้ายติดตั้งได้ง่าย แต่ด้วยโครงสร้างที่กลวงจึงส่งผลให้เปราะบางและรับน้ำหนักได้น้อย มีน้ำหนักเบา ราคาไม่สูงมาก ติดตั้งง่าย และที่สำคัญกันมอดปลวกได้ 100% ทนความชื่นเนื่องจากวัสดุที่ใช้ทำมาจากพลาสติก

 

ตัวอย่างประตูไม้

        

 

ตัวอย่างประตู WPC

       

 

ตัวอย่างประตู PVC

 

Read More

ความรู้งานก่อสร้าง “การหาช่างซ่อมบ้าน”

เรื่อง : สาระน่ารู้เกี่ยวกับการหาช่างซ่อมบ้าน

จะหาช่างซ่อมบ้านอย่างไร ให้ได้ช่างซ่อมมืออาชีพ ชำนาญงานตรงกับงานที่จะซ่อมแซม

 

เราจะหาช่างซ่อมบ้านได้อย่างไรนั้นควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

 

  • ช่างราคาซ่อมแซมที่ถูกไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป จงอย่างเห็นแก่ราคาที่ถูกอย่างเดียว

ผู้ให้บริการซ่อมแซมบ้านเดี๋ยวนี้มีหลากหลายกลุ่มและประเภทและราคา ด้วยสภาวะที่มีการแข่งขันที่สูง ทำให้อาจมีผู้ใช้ช่องว่างนี้ทำการตัดราคากันเพื่อให้ได้การรับจ้างงาน ดังนั้นเราควรพิจารณาดูหลายๆปัจจัย ก่อนจะตัดสินใจว่าจ้างช่างซ่อมบ้านเราโดยไม่เห็นแก่ราคาที่ถูกกว่าอย่างเดียวเท่านั้น  แต่ควรตัดสินใจเลือกจากความเชี่ยวชาญในงานซ่อม รวมไปถึงความชัดเจนในการพูดคุยด้วยและคะแนนการรีวิวต่างๆ(หากมี)

 

  • สรุปขอบเขตงานที่จะซ่อมแซมบ้านและข้อตกลงต่างๆให้ชัดเจน อาทิเช่น วัสดุที่ใช้ ราคาที่ว่าจ้าง ช่างผู้ปฎิบัติงาน ฯลฯ

หากเป็นไปได้ก่อนที่จะเรียกใช้บริการ เราควรถ่ายภาพและเก็บรายละเอียดความเสียหายให้ชัดเจน เพื่อพูดคุยถึงปัญหาและขอบเขตการซ่อมกับช่าง โดยควรให้ช่างประเมินว่าความเสียหายขนาดนี้ ประเมินแล้วจะมีค่าใช้จ่ายเป็นราคาเท่าไร ระยะเวลาในการซ่อมนานแค่ไหนและจำเป็นจะต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง

 

  • ก่อนที่จะซ่อมแซมบ้านหรืออุปกรณ์ใดๆ เราควรที่จะรู้จักปัญหางานที่จะซ่อมแซมและอุปกรณ์ที่จะซ่อมแซมเสียก่อน

เมื่อเรามีรายการท่จะต้องการซ่อมแซมบ้าน ซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆของบ้าน หรือมีอุปกรณ์ชำรุดเสียหาย ควรตรวจสอบก่อนว่าอาการเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น อาจเกิดมาสาเหตุอะไรได้บ้าง มีความเสียหายในส่วนไหน ผลที่เกิดขึ้นส่งผลต่ออุปกรณ์อย่างไร โดยสามารถสืบค้นข้อมูลได้จากอินเทอร์เน็ต ค้นหาจาก Google เพื่อหาความรู้เบื้องต้นในการสื่อสารกับช่าง เพื่อให้ช่างสามารถซ่อมได้ตรงจุดมากที่สุด

 

  • วิธีการหาช่างซ่อมแซมบ้านที่ไว้วางใจได้จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

ช่องทางหาบริการช่างซ่อมแซมบ้านมีมากมายหลายช่องทางในปัจจุบันนี้ มีระบบรีวิวจากผู้ใช้งาน ดังนั้นก่อนการตัดสินใจเลือกใช้บริการช่างซ่อมแซมบ้าน เราควรหาข้อมูลในการรีวิวของผู้ใช้บริการซ่อมแซมงานที่ผ่านมา เพื่อประเมินว่าช่างที่เราจะใช้บริการนั้นมีความน่าเชื่อถือแค่ไหนอย่างไรบ้าง เพื่อประกอบการตัดสินที่จะว่าจ้างให้เข้ามาซ่อมแซมบ้านเรา

 

  • เราควรควบคุมและตรวจสอบการทำงานการซ่อมแซมอย่างใกล้ชิดโดยไม่ทำให้ช่างรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจ

เราไม่ควรละเลยที่จะตรวจสอบการซ่อมแซมบ้าน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรควบคุมการทำงานของช่างมากจนเกินไปเพราะอาจทำให้ช่างรู้สึกอึดอัด ไม่สะดวกหรือไม่สบายใจที่จะให้บริการได้

ข้อดีของการตรวจสอบนั้นคือเพื่อป้องกันปัญหาต่างๆอันอาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น ใช้วัสดุไม่ได้คุณภาพ ข้ามขั้นตอนที่สำคัญในการทำงาน ทำความเสียหาย หรือเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับทรัพย์สิน และเพื่อให้เข้าใจปัญหาของการซ่อมแซมบ้านและอุปกรณ์ที่ซ่อมแซมนั้นๆ

 

หลังจากพิจารณา กลั่นกรอง ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน เพื่อที่จะเลือกช่างเข้ามาซ่อมแซมบ้านเราแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการตกลงว่าจ้าง

เราควรกำหนดข้อตกลงต่างๆ เช่น ราคาการว่าจ้าง เงื่อนไขต่างๆ วันและเวลาในการทำงานที่แน่นอน

เมื่อพบช่างที่ถูกใจ สื่อสารเรื่องการซ่อมและตกลงราคากันได้แล้ว ต่อมาคือเรื่องของการนัดแนะวันเวลาในการทำงาน

เนื่องจากงานซ่อมแซมบ้านบางอย่างอาจส่งเสียงดังจนเป็นการรบกวนเพื่อนบ้านข้างเคียงได้ หากอยู่อาศัยในบ้านเดี่ยว

คงจะไม่มีปัญหาอะไรมาก แต่หากอยู่อาศัยในคอนโด ควรแจ้งกับนิติบุคคลอาคารชุดถึงขอบเขตงานซ่อม วันและเวลาที่ช่างจะเข้ามา

เพื่อให้นิติบุคคลอาคารชุดรับทราบ

 

Read More

ความรู้งานก่อสร้าง “การซ่อมรอยแตกร้าวด้วย Epoxy Injection”

“การซ่อมแซมรอยแตกร้าวด้วย Epoxy Injection”

การอัดฉีด Epoxy เข้าไปในรอยร้าว เพื่อยึดรอยร้าวให้กลับมาติดกันเหมือนพื้นเดิมและทำให้โครงสร้างคอนกรีตที่แตกร้าวกลับมารับกำลังได้ดีเช่นเดิม

ขั้นตอนการทำงาน

  1. วางหัวแป้นฉีดลงตามรอยแตกร้าว:  ทำความสะอาดรูและรอยแตกร้าวด้วยการใช้ลมเป่าเศษฝุ่นและผงต่างๆออกให้สะอาด วางหัวแป้นฉีดลงตามรอยแตกร้าวระยะห่างทุกๆ 30เซนติเมตร

   

2.  ฉาบปิด seal ที่หัวแป้นและรอยร้าว:  ฉาบปิด seal ที่แป้นและรอยร้าวด้วย Epoxy Adhesive Mortar เพื่อป้องกันน้ำยารั่วซึมออกในระหว่างการฉีดอัดสาร Epoxy ปิดรอยร้าว

3.  ฉีดอัดสาร Epoxy Resin:  ฉีดอัดสาร Epoxy Resin เต็มทั่วรอยแตกร้าว ปล่อย พื้นที่หน้างานทิ้งไว้ให้สารแห้งและแข็งตัวเต็มที่ประมาณ 4 ชั่วโมง

4.  ขัดแต่งผิวให้เรียบ:  เอาหัวแป้นที่ใช้ฉีดออกเสร็จแล้วปิดรูที่แป้น หัวหลังจากนั้นจึงทำการเจียรขัดแต่งผิวให้เรียบ

ข้อดีของการซ่อมรอยแตกร้าวบนพื้นคอนกรีต

พื้นคอนกรีตมีความสวยงาม

พื้นคอนกรีตยึดติดกันหยุดการแตกร้าวเพิ่ม

ป้องกันน้ำซึมผ่านรอยแตกเข้าชั้นดิน

พื้นที่สำหรับซ่อมแซมใช้งาน

พื้นลานจอดรถ

พื้นคอนกรีต

พื้นโรงงาน

พื้นถนนคอนกรีต

พนังคอนกรีต

อุโมงค์คอนกรีต

ทางด่วน

Read More

ความรู้งานก่อสร้าง “การแบ่งปูนแต่ละประเภทในการใช้งาน”

สาระน่ารู้ : งานก่อสร้าง

เรื่อง : เกร็ดความรู้ การแบ่งปูนแต่ละประเภทในการใช้งาน

7 ประเภท ปูนซีเมนต์ และการใช้งานของแต่ละแบบ

 

ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ธรรมดา

หรือที่เรียกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 1 เป็นปูนซีเมนต์ขั้นพื้นฐาน เหมาะกับงานทั่วไป อย่างเช่น งานก่อสร้างบ้าน อาคารทั่วไป งานทำถนน งานสร้างสะพานต่าง

 

ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ดัดแปลง

หรือที่เรียกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 2 ใช้สำหรับทำตอม่อ ฐานราก หรือกำแพงกั้นดิน โดยปูนประเภทนี้เหมาะกับการใช้งานที่โดนน้ำเค็มไม่มาก มีคุณสมบัติที่สามารถทนต่อซัลเฟตได้ระดับปานกลาง หรือเป็นปูนที่เหมาะกับการใช้โครงสร้างที่ต้องสัมผัสกับน้ำหรือดิน

 

ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดแข็งตัวเร็ว

หรืออีกชื่อที่เรียกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 3 ลักษณะของปูนมีความละเอียดเป็นพิเศษ ทำให้จุดเด่นของปูนชนิดนี้คือแข็งตัวเร็ว และสามารถรับแรงได้เร็วกว่าปูนซีเมนต์ประเภทอื่นๆ ดังนั้นปูนประเภทนี้จึงเหมาะกับงานที่ต้องการความเร่งด่วน หรือเหมาะกับงานที่ต้องการรื้อถอน ที่เร็วกว่าปกติ เช่น งานก่อสร้างพื้นสำเร็จรูป งานเสาเข็ม เป็นต้น

 

ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดเกิดความร้อนต่ำ

หรือที่เรียกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 4 ที่ควบคุมความร้อนที่อาจเกิดขึ้นจากปฏิกริยาระหว่างปูนซีเมนต์กับน้ำ เพราะในขณะที่ปูนกำลังแข็งตัว ไม่มีความร้อนมากเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดรอยแตกร้าว ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายระหว่างการทำงาน หรือเกิดปัญหาในอนาคต ดังนั้นปูนประเภทนี้จึงเหมาะกับการก่อสร้างเขื่อน

 

ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดต้านทานซัลเฟตได้สูง

หรือปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 5 เป็นปูนที่ผ่านการดัดแปลง เหมาะกับงานใช้งานในพื้นที่ที่ต้องสัมผัสดังนั้นปูนประเภทนี้จึงเหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ที่สัมผัสกับน้ำและดิน ซึ่งมีซัลเฟตไม่สูงมาก ซึ่งเมื่อเทียบกับกรณที่สร้างบ้าน สร้างอาคาร หรือสร้างสิ่งปลูกสร้างใกล้กับทะเลที่มีเกลือจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นตัวทำลายซัลเฟตในเนื้อปูนได้

 

ปูนซีเมนต์ผสม หรือ ปูนซีเมนต์ซิลิก้า

เป็นปูนซีเมนต์ที่เกิดจากการผสมกันระหว่างทรายหรือหินปูนมาบดให้ละเอียด แล้วนำมาผสมกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ในอัตราส่วน 1:4 จึงทำให้ปูนซีเมนต์ทำให้เกิดการแข็งตัวช้า ซึ่งเหมาะกับงาน ปูนก่อ ปูนตกแต่ง หรืองานโครงสร้างขนาดเล็กที่ไม่ต้องรับแรงมาก หรือเหมาะกับโครงสร้างทั่วไป

 

ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดสีขาว

ปูนซีเมนต์ที่เหมาะกับการใช้ในงานตกแต่ง ซึ่งเนื้อปูนมีลักษณะเป็นสีขาว จึงทำให้ปูนประเภทนี้สามารถผสมเข้ากับสีต่างๆได้ เพื่อใช้ในการตกแต่ง ซึ่งลักษณะของปูนมีความแข็งต้วค่อนข้างช้า

นอกจากประเภทของปูนซีเมนต์ที่มีทั้งหมด 7 ประเภทนั้น เรายังสามารถแบ่งประเภทของปูนตามประเภทหลักการใช้งานได้ 3 ประเภท

ปูนซีเมนต์สำหรับงานโครงสร้าง

งานก่อสร้างบ้านใหม่หรืออาคารทั่วไป : ปูนซีเมนต์ปอร์ตธรรมดา

งานก่อสร้างเร่งด่วน งานซ่อมแซม : ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดแข็งตัวเร็ว

บ้าน หรือ อาคารที่อยู่ใกล้กับทะเล : ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดต้านทานซัลเฟตได้สูง

งานก่อสร้างที่ต้องสัมผัสกับดินและน้ำเช่น ตอม่อ ฐานราก : ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ดัดแปลง

งานโครงสร้างขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน : ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดเกิดความร้อนต่ำ

ปูนซีเมนต์สำหรับงานก่อ งานฉาบ

งานก่อ : ปูนซีเมนต์ผสม งานฉาบ : ปูนซีเมนต์ผสม

ปูนซีเมนต์สำหรับงานพิเศษ

งานตกต่างแต่งต่างๆ : ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์

 

นอกจากปูนซีเมนต์พื้นฐาน 7 ประเภทข้างต้นแล้ว ยังมีปูนอีกประเภทนั้นก็คือ ปูนมอร์ต้า ซึ่งเป็นปูนประเภทที่ผสมสำเร็จ ซึ่งเป็นการผสมระหว่างปูนซีเมนต์ ทราย และน้ำยาผสมคอนกรีตมาผสมให้เข้ากัน วิธีใช้ก็ง่ายเพียงแค่เติมน้ำเข้าไปในอัตราที่กำนหด แค่นี้ปูนสำเร็จก็พร้อมใช้งาน ซึ่งปูนประเภทนี้เหมาะกับการใช้งานก่ออิฐ งานฉาบปูน และงานเทปรับระดับ รวมไปถึงซ่อมแซมพื้นผิวต่างๆ ทั้งนี้ปูนมอร์ต้าจะมีการแบ่งประเภทการใช้งานเอาไว้เรียบร้อย  เช่น งานปูนก่อ ฉาบทั่วไป หรือ ฉาบละเอียด และอื่นๆ

รูปปูนชนิดต่างๆ

        

      

Read More

ความรู้งานก่อสร้าง “กำลังอัดคอนกรีต”

สาระน่ารู้ : งานก่อสร้าง

เรื่อง : เกร็ดความรู้ เรื่องกำลังอัดคอนกรีตคืออะไร

กำลังอัดคอนกรีตคือ แรงที่คอนกรีตสามารถรับแรงกดทับได้ในปริมาตร 1 ลบ.ซม. แล้วจึงจะพังลง เช่นตัวอย่าง คอนกรีตกำลังอัดทรงลูกบาศก์ 180 Ksc หมายถึง คอนกรีตชนิดนี้ต้องใช้น้ำหนักทับลงในแนวดิ่ง 180 กิโลกรัม เพื่อทำให้คอนกรีต 1 ตร.ซม. พังนั่นเอง

Ksc. คืออะไร?

Ksc. ย่อมาจาก Kilogram Per Square Centimeter แปลว่า กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร โดยทั่วไปแล้วจะมีหน่วยการวัดกำลังอัดอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่

  1. กำลังอัดของคอนกรีตรูปทรงกระบอก (Cylinder) มีค่าเป็น กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร (ksc) (อ้างอิงตามมาตรฐานของฝั่งอเมริกา ASTM)
  2. กำลังอัดของคอนกรีตรูปทรงลูกบาศก์ (Cube) มีค่าเป็น กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร (ksc) (อ้างอิงตามมาตรฐานของฝั่งอังกฤษ BS)

ควรใช้คอนกรีตกำลังอัดเท่าไหร่ ?

ทุกท่านทราบกันดีว่าคอนกรีตนั้นมีขนาดของกำลังอัดที่แตกต่างกัน เพื่อที่จะสามารถใช้งานในการก่อสร้างได้อย่างเหมาะสมในงานแต่ละแบบแล้ว การเลือกกำลังอัดที่ไม่สูงหรือต่ำเกินไปจะทำให้ท่านได้คอนกรีตที่ดีมีคุณภาพในราคาที่ต่ำ โดยกำลังอัดของคอนกรีตโดยทั่วไปจะมีกำลังอัดดังต่อไปนี้

  • LEAN

Lean หรือคอนกรีตหยาบ คือ คอนกรีตที่ค่อนข้างรับน้ำหนักได้ต่ำ ใช้สำหรับงานเทปรับระดับพื้นดินที่ไม่เรียบ รวมถึงช่วยป้องกันการสัมผัสกันโดยตรงระหว่างดินกับคอนกรีตสด โดยเฉพาะโครงสร้างที่อยู่ต่ำกว่าหรือใกล้กับระดับดินและงานหล่อโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ทั้งนี้ การเทคอนกรีตหยาบในบ้านเรานิยมเรียกกันว่า การเทลีน โดยการเทลีนจะเทลงไปบนพื้นดินหนาประมาณ 5-10 เซนติเมตร เพื่อปรับหน้าดินให้เรียบและป้องกันการเปลี่ยนตำแหน่งของเหล็กที่เกิดจากการไหลของหน้าดิน

 

  • คอนกรีตกำลังอัด 180 ksc. คอนกรีตกำลังอัด 180 ksc. หรือคอนกรีตที่สามารถรับแรงกดทับในแนวดิ่งได้ 180 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร เหมาะสำหรับการใช้งานที่ไม่รับแรงกดทับมาก เช่นการเทพื้นลานนอกบ้าน ลานจอดรถเก๋ง รถกระบะ ลานโรงเรียนลานอเนกประสงค์

 

  • คอนกรีตกำลังอัด 240 ksc .หรือคอนกรีตที่สามารถรับแรงกดทับในแนวดิ่งได้ 240กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร สามารถกันน้ำได้ในระดับหนึ่งโดยใช้น้ำยากันซึมเข้าช่วย เหมาะสำหรับการใช้งานในอาคารขนาดเล็กที่ได้มาตรฐานสูง และการใช้งานในถนนบางประเภท เช่น งานถนนที่มีการจราจรน้อย ลานจอดรถเก๋ง รถกระบะ ถนนเทศบาล อบต. อบจ. พื้นดาดฟ้า พื้นห้องน้ำ อาคารพาณิชย์ 2-4 ชั้น บ้านชั้นเดียว, บ้าน 2 ชั้น ฐานรากบ้าน

 

  • คอนกรีตกำลังอัด 280 ksc.คอนกรีตกำลังอัด 280 ksc. หรือคอนกรีตที่สามารถรับแรงกดทับในแนวดิ่งได้ 280 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร เหมาะสำหรับการใช้งานในอาคารขนาดกลาง และงานถนนที่ใหญ่ขึ้นตามขนาดของการใช้งาน เช่น โรงแรมอาคารสำนักงาน 2-4 ชั้น อาคารเรียน 4-6 ชั้น อาคารที่พักอาศัย

 

  • ถนนเทศบาล อบต. อบจ.

 

  • คอนกรีตกำลังอัด 320 ksc. คอนกรีตกำลังอัด 320 ksc. หรือคอนกรีตที่สามารถรับแรงกดทับในแนวดิ่งได้ 320 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร เป็นคอนกรีตที่ค่อนข้างแข็งแรง สามารถรับแรงกดทับได้มาก เหมาะสำหรับอาคารสูงที่มีเหล็กมาก และงานถนนสายหลัก เช่น ถนนกรมทางหลวง พื้นโกดังเก็บสินค้า สระว่ายน้ำ พื้นดาดฟ้า อาคารที่พักอาศัย อาคารเรียน 4-6 ชั้น โรงแรมสูง คอนโดมิเนียม 4-8 ชั้น

 

  • คอนกรีตกำลังอัด 380 ksc.คอนกรีตกำลังอัด 380 ksc. หรือคอนกรีตที่สามารถรับแรงกดทับในแนวดิ่งได้ 380 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร เป็นคอนกรีตที่สามารถรองรับงานได้เกือบทุกแบบตั้งแต่งานอาคารขนาดกลางไปจนถึงอาคารสูงที่มีเหล็กหนาแน่นมาก ประเภทของงานที่รองรับ ได้แก่ โรงแรมสูง คอนโดมิเนียม 4-8 ชั้น ศูนย์การค้าต่างๆ ผนังเขื่อน ถนนกรมทางหลวง, สำนักงานทางหลวงชนบท สระว่ายน้ำ

 

  • คอนกรีตกำลังอัด 400 ksc. คอนกรีตกำลังอัด 400 ksc. หรือคอนกรีตที่สามารถรับแรงกดทับในแนวดิ่งได้ 400 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร เหมาะสำหรับงานที่ต้องการความแข็งแรงเป็นพิเศษตามขนาดของการใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ อาคารที่สูงมากกว่า 8 ชั้นไปใช้เทเพื่อการผลิตแผ่นพื้น เสา คานลานบินผนังเขื่อน

 

  • คอนกรีตกำลังอัด 450 ksc. คอนกรีตกำลังอัด 450 ksc. หรือคอนกรีตที่สามารถรับแรงกดทับในแนวดิ่งได้ 450 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร เหมาะสำหรับงานที่ต้องการความแข็งแรงเป็นพิเศษตามขนาดของการใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ

 

รูปคอนกรีต

 

       

       

Read More

ความรู้งานก่อสร้าง “กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการต่อเติมบ้าน”

ความรู้งานก่อสร้าง

เรื่อง : กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการต่อเติม ปรับปรุง บ้าน

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการต่อเติมบ้านโดยตรง คือ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21 และ 39 ทวิ ซึ่งสรุปเอาไว้ให้เข้าใจง่าย คือ การจะดัดแปลง ต่อเติมอาคาร ต้องแจ้งและต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานท้องถิ่น ก่อนเสมอ ตามมาตรา 21 พร้อมต้องยื่นแบบแปลน รวมถึงชื่อสถาปนิกและวิศวกรที่ควบคุมงาน ให้เจ้าพนักงานทราบ ลูกค้าที่มีความคิดและต้องการจะต่อเติม เสริมแต่งบ้าน เช่น ห้องครัว ห้องนั่งเล่น ระเบียง ฯลฯ ที่ต้องยื่นออกมานอกบ้าน โรงจอดรถ ห้องสำหรับผู้สูงวัย หรือห้องเก็บของ ถึงแม้จะทำในพื้นที่บ้านตัวเอง แต่รู้หรือไม่ว่าการต่อเติมใดๆ ต้องอยู่ ภายใต้กฎหมายการต่อเติม เพื่อป้องกันความเสียหายและการผิดกฎหมายในอนาคต

การต่อเติม ปรับปรุง รีโนเวท บ้าน ต้องปฎิบัติตามกฎหมายที่คุณต้องรู้ ดังนี้

 

  • ต้องระวังเรื่อง ต่อเติมอาคาร แนวอาคารและระยะร่นต่างๆ ดังนี้

แนวรั้วหรือกำแพงที่สร้างขึ้นติดต่อหรือห่างจากถนนสาธารณะน้อยกว่าความสูงของรั้วให้ก่อสร้างได้สูงไม่เกิน 3 เมตร เหนือระดับทางเท้าหรือถนนสาธารณะ อาคารที่มีความสูงเกิน 9 เมตร แต่ไม่เกิน 23 เมตร ผนังของอาคาร,ช่องเปิด (หน้าต่าง,ประตู,ช่องลม,ช่องแสง) หรือระเบียงของอาคารต้องอยู่ห่างจากแนวเขตที่ดิน 3 เมตรอาคารที่มีความสูง ไม่เกิน 9 เมตร ควรเว้นระยะห่างของผนัง,ช่องเปิด (หน้าต่าง,ช่องลม,ช่องแสง) ห่างจากแนวของเขตที่ดิน ข้างเคียงไม่น้อยกว่า 2 เมตร แต่ถ้าเป็นผนังทึบต้องเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร

 

  • ลูกค้าต้องได้รับความยินยอมจากเพื่อนบ้านข้างเคียง ก่อนการต่อเติม ปรับปรุงบ้าน

บ้านข้างเคียง สังคมที่เราต้องอยู่ร่วมกันในระยะยาว ดังนั้นการต่อเติมที่อยู่อาศัยจึงควรบอกกล่าวเพื่อนบ้านให้รับรู้ และขอความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากเพื่อนบ้าน ว่าต้องการต่อเติม ปรับปรุงบ้าน ก่อน เพื่อป้องกันความขัดแย้งในการก่อสร้าง โดยเฉพาะหากเจ้าของบ้านต้องการต่อเติมบ้านชิดเขตที่ดินของเพื่อนบ้าน หากไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของที่ดินข้างเคียง ก็ไม่สามารถต่อเติมชิดเขตพื้นที่ได้ ต้องเว้นระยะห่างจากเขตที่ดินอย่างน้อย 0.50 เมตร และต้องเป็นผนังทึบไร้ช่องเปิดเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย

 

  • ลูกค้า ต้องห้ามต่อเติมอาคารเต็มพื้นที่ดิน ต้องมีพื้นที่ว่างเหลือไม่น้อยกว่า 30%

เนื่องจากกฎหมายไม่อนุญาตให้ต่อเติมที่พักอาศัยจนเต็มทั้งพื้นที่ของที่ดิน โดยต้องที่เว้นว่างระหว่างตัวบ้านกับเขตที่ดินของตัวเองอย่างน้อย 30% ของพื้นที่ เพื่อป้องกันเหตุไม่คาดคิด เช่น เหตุเพลิงไหม้ เพราะเมื่อเกิดเหตุดังกล่าว ถ้าบ้านติดกันไม่มีช่องว่างจะเกิดการล่ามไฟได้ง่าย พนักงานดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปดับเพลิงได้ ถ้าไม่มีพื้นที่ว่างระหว่างอาคาร การระบายอากาศก็ไม่ดีทำให้บ้านอับชื้น ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 30 ใน 100 ส่วนของที่ดินที่ว่างโดยรอบอาคาร ถ้าอาคารสูงน้อยกว่า 15 เมตร ต้องมีที่ว่างโดยรอบ 1.00 เมตร ถ้าอาคารสูงตั้งแต่ 15 เมตร ต้องมีที่ว่าง โดยรอบ 2.00 เมตร

 

  • ลูกค้าต้องมีสถาปนิกและวิศวกรควบคุมการดำเนินการต่อเติม

เมื่อลูกค้าทำเรื่องขออนุญาตกับเจ้าพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว  สิ่งที่จะต้องมีเมื่อเราต้อง  การต่อเติมที่อยู่อาศัยนั้นก็คือ แบบแปลนที่ได้รับการรับรองจากสถาปนิกและวิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้างอาคาร  กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงวัสดุก็จำเป็นต้องให้วิศวกรคำนวณ เพื่อสรุปว่าการต่อเติมนั้นจะสามารถอนุญาตให้ต่อเติมได้หรือไม่ โดยจำเป็นต้องคำนึงถึงหลักความปลอดภัย  เมื่อทราบกฎหมายควบคุมการต่อเติมบ้านแล้ว เจ้าของบ้านที่มีแผนจะต่อเติมบ้านเพื่อให้สอดคล้องกับการอยู่อาศัยจึงควรวางแผนก่อนต่อเติมเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่ตามมา ซึ่งหากเจ้าของบ้านไม่ปฏิบัติตามแล้วมีผู้ร้องเรียนเจ้าของบ้านจะต้องโทษจำคุก ไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหากเจ้าของบ้านเลือกใช้บริษัทรับสร้างบ้าน ที่ได้มาตรฐานจะช่วยป้องกันปัญหาการต่อเติมที่ผิดกฎหมายได้ เนื่องจากมีสถาปนิกและวิศวกรควบคุมงาน อีกทั้งยังช่วยประสานงานติดต่อขออนุญาตในขั้นตอนต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของบ้าน และทำให้การก่อสร้างต่อเติมเป็นไปอย่างราบรื่น หมดปัญหาหมดห่วงอย่างแน่นอน

 

  • ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานในพื้นที่

การต่อเติมบ้านทั้งบ้านชั้นเดียว และบ้านหลายชั้น จะต้องมีใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อน หากมีการต่อเติมในขอบเขตดังต่อไปนี

– การต่อเติมบ้านที่มีพื้นที่ครอบคลุมเกิน 5 เมตรหรือตารางเมตร

– การลด-เพิ่ม จำนวนเสา หรือคาน

– การต่อเติมที่มีความเปลี่ยนแปลงของวัสดุ ขนาด ที่แตกต่างไปจากของเดิม

– การต่อเติมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักบ้านที่เพิ่มมากขึ้นจากการคำนวณฐานรับน้ำหนัก

 

Read More

ความรู้งานก่อสร้าง “เหล็กเส้นกลมและเหล็กข้ออ้อย”

ความรู้เรื่อง :  เหล็กเส้นกลมและเหล็กข้ออ้อย

 

  ในการก่อสร้าง เหล็กเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญในงานโครงสร้างที่จะทำให้สิ่งก่อสร้างเป็นรูปร่างและมีความคงทนแข็งแรง ซึ่งเหล็กในแต่ละประเภทจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

 

  • เหล็กเส้นกลม (Round Bar)  ช่างโดยทั่วไปมักเรียกกันว่า เหล็ก RB มีลักษณะภายนอกจะมีผิวเรียบเกลี้ยง หน้าตัดกลม ซึ่งที่มีขายกันอยู่ทั่วไป ใช้ในการยึดเหนี่ยวระหว่างเหล็กกับคอนกรีต ต้องมีการงอเพื่อที่จะสามารถถ่ายแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนมากจะใช้สำหรับงานโครงสร้าง เช่น ปลอกเสา ปลอกคาน โครงถนน งานก่อสร้างขนาดเล็กและขนาดกลาง เป็นต้น เหล็กชนิดนี้จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 6 -25 มิลลิเมตร สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมในการใช้งาน

   มาตรฐานอุตสาหกรรม มอก.20-2559 ชั้นคุณภาพของเหล็กประเภทนี้คือ SR24 ที่เป็นที่รู้จักและนิยมใช้คือ เหล็ก Tata tiscon, บลกท, RSM, TDC

     – RB6 (เหล็กเส้นกลม 2 หุน) ใช้สำหรับงานก่อสร้างที่รับแรงไม่มาก นิยมใช้ทำปอกเสา และปอกคาน

     – RB9 (เหล็กเส้นกลม 3 หุน) ใช้สำหรับงานก่อสร้างที่รับแรงไม่มาก คล้ายกับเหล็กเส้นกลม 2 หุน

     – RB12 (เหล็กเส้นกลม 4 หุน) ใช้สำหรับงานก่อสร้างทั่วไป แต่ไม่เน้นงานยึดเกาะ เพราะเหล็กมีลักษณะ 

เรียบมน ทำให้ยึดเกาะปูนไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนมากนิยมใช้กับงานกลึง เช่น งานกลึงหัวน๊อตต่างๆ

      – RB19  ใช้สำหรับงานทำถนน

     – RB25 ใช้ทำเป็นเหล็กสตัท เกรียวเร่ง สำหรับงานยึดโครงป้ายขนาดใหญ่สามารถรับแรง และน้ำหนักได้ดี

 

  • เหล็กข้ออ้อย (Deformed Bar) เป็นเหล็กที่ใช้สำหรับงานก่อสร้างเสริมคอนกรีตที่ต้องการโครงสร้างแข็งแรง เช่น อาคารสูง คอนโดมิเนียม ถนนคอนกรีต สะพาน เขื่อน สนามบิน บ่อหรือสระน้ำ เป็นต้น มีลักษณะเป็นเส้นกลมที่มีบั้ง ผิวของเหล็กจะมีลักษณะเป็นปล้องๆ อยู่ตลอดเส้น เหล็กข้ออ้อยจะรับแรงได้มากกว่าเหล็กเส้นกลมเรียบ จะให้ผลที่ดีต่อการรับน้ำหนักมากกว่า การเลือกใช้ชนิดของเหล็กเส้นข้ออ้อย  SD30, SD40และ SD50 ขึ้นอยู่กับชนิดของโครงสร้างเป็นสำคัญ โดยเหล็กข้ออ้อยจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่มีขายโดยทั่วไปคือ 12 และ 16 มม. สำหรับขนาดอื่นได้แก่ 10, 20, 25 และ 28 มม. ต้องสั่งซื้อพิเศษ โดยเหล็กข้ออ้อยแต่ละขนาดจะมีความยาวอยู่ที่ 10 และ 12 เมตรเช่นเดียวกับเหล็กเส้นกลม

 

 

รูปตัวอย่าง เหล็กเส้นกลม เหล็กข้ออ้อย

     

     

       

Read More

ความรู้งานก่อสร้าง “รอยแตกร้าวผนังปูน”

สาระน่ารู้ : งานก่อสร้าง

เรื่อง : รอยแตกร้าวผนังปูน

 

  • รอยแตกร้าวที่ก่อให้เกิดอันตราย

    เป็นร้อยร้าวที่เกิดจากโครงสร้างอาคารที่ทรุดตัวหรือการคำนวณการรับน้ำหนักของโครงสร้างอาคารที่ผิดพลาด โดยเราสามารถสังเกตลักษณะรอยร้าวได้ดังนี้

รอยแตกร้าวที่เป็นแนวเฉียงกลางผนัง

รอยลักษณะนี้เกิดจากการทรุดตัวของเสาต้นใดต้นหนึ่ง จึงทำให้คานไม่สามารถรับน้ำหนักได้ จนเกิดเป็นรอยร้าวเฉียงตามแนวกำแพง รอยลักษณะนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ในอนาคต

รอยแตกร้าวในแนวดิ่งกลางผนัง

สาเหตุเกิดจากคานบนผนังมีการรับน้ำหนักที่มากเกินไป จึงทำให้คานเกิดอาการแอ่นตัวหรืองอตัว จนทำให้มีการแตกร้าวเป็นเส้นแนวยาวเกิดขึ้นตามผนัง วิธีแก้ไขเบื้องต้นคือการย้ายของหนักที่อยู่ชั้นบนเหนือบริเวณจุดที่มีปัญหาออกและแจ้งผู้ชำนาญการหรือวิศวกรให้มาตรวจสอบและทำการแก้ไข

รอบแตกร้าวบริเวณแนวคานและแนวเสา

สาเหตุเกิดจากคานและแนวเสาบริเวณนั้น รับน้ำหนักที่มากเกินไป จึงทำให้คานเกิดการแอ่นตัวและส่งผลให้เกิดรอยร้าวตามมา สาเหตุอาจเกิดจากการคำนวณโครงสร้างที่ผิดพลาด หรือมีการดัดแปลงการใช้อาคารที่ผิดวัตถุประสงค์จนทำให้มีการรับน้ำหนักของตัวอาคารที่มากเกินไป

 

  • รอยแตกร้าวทั่วไปที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย

เป็นรอยร้าวที่สามารถซ่อมได้ง่ายไม่ก่อให้เกิดอันตราย รอยแตกร้าวนี้อาจเกิดจากการผสมปูนและฉาบปูนที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน หรือการยืดตัวหดตัวของวัสดุก่อผนัง นอกจากนี้อาจมีสาเหตุมาจากการสั่นไหวของตัวโครงสร้างจึงทำมีการแตกร้าวบริเวณผนังเกิดขึ้น ซึ่งลักษณะอาการแตกร้าวที่พบเห็นได้ทั่วไปนั้น จะมีลักษณะดังนี้

รอยแตกร้าวลายงา

รอยแตกร้าวลายงา สาเหตุอาจเกิดมาจากช่างที่ทำการฉาบปูนนั้นไม่มีความชำนาญ การฉาบปูนที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน หรือมีการผสมปูนที่ไม่ได้ตามอัตราส่วน นอกจากนี้รอยแตกร้าวนั้นอาจเกิดจากวัสดุที่เลือกใช้ในการก่อผนังมีการหดตัวหรือขยายตัวเกิดขึ้นเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ จนทำให้มีการแตกร้าว

รอยแตกร้าวตามมุมขอบวงกบประตูและหน้าต่าง

เป็นรอยแตกร้าวที่เกิดขึ้นบริเวณขอบวงกบประตูหรือหน้าต่างเป็นแนวเฉียง สาเหตุอาจเกิดมาจากช่างที่ไม่ได้ทำการติดตั้งเสาเอ็นและคานทับหลัง ที่มีส่วนช่วยในการสร้างความแข็งแรงของผนังบริเวณขอบประตูและขอบหน้าต่างให้สามารถรับน้ำหนักและแรงกระแทกที่เกิดขึ้นได้ จึงทำให้เกิดการแตกร้าว

รูปตัวอย่างรอยแตกร้าวผนังปูน แบบต่างๆ

 

       

      

       

       

 

 

Read More

ความรู้งานก่อสร้าง “แผ่นสำหรับการมุงหลังคา”

ความรู้งานก่อสร้าง

เรื่องแผ่นสำหรับมุงหลังคา เมทัลชีท ฉีดโฟม พียู (PU Foam)

 

พียูโฟม (PU Foam) + แผ่นเมทัลชีท (Metal Sheet) หรือ แผ่นพียูโฟมแซนวิชที่มีความหนา 1 – 2 นิ้ว นิยมใช้ภายในอาคารที่มีเครื่องปรับอากาศ หรือ บริเวณพื้นที่ภายนอก ส่วนต่อเติมต่างๆ เช่นห้องครัว ห้องนอน พื้นที่หลังคาที่ต้องการความร่มเย็น มีคุณสมบัติเก็บความเย็น ไม่สะสมความร้อนและยังไม่สามารถติดไฟได้ง่าย

 

พียูโฟม (PU Foam) คือฉนวนหรือโฟมที่มีประสิทธิภาพในการกันความร้อน เก็บความเย็น และปกป้องเสียงเข้าสู่ภายในอาคารได้ดี มีโครงสร้างเป็นเซลล์ปิด (Closed Cell) ผลิตโดยการฉีดฉนวนที่มีชื่อว่า “โพลียูรีเทนโฟม” หรือพียูโฟม (PU Foam) ลงบนแผ่นเมทัลชีทโดยพียูโฟม เกิดจากสารเคมี 2 ชนิด ที่ผสมกันและให้ความร้อนในการเซ็ทตัว จึงทำให้เกิดโครงสร้างโมเลกุลยึดเกาะกันเป็นเนื้อโฟม

 

พียูโฟมสามารถลดความร้อนใต้หลังคาได้มากถึง 15 องศา – 35 องศา ทำให้ปกป้องความร้อนภายนอกจากแสงอาทิตย์ และลดการสูญเสียความเย็นภายในอาคาร อากาศเย็นภายในบ้านจึงคงทนอยู่นาน ทำให้ช่วยประหยัดค่าแอร์ได้อย่างดีเยี่ยม  ในการป้องกันเสียงรบกวนนั้น สามารถลดเสียงจากภายนอกได้ 20 เดซิเบล – 40 เดซิเบล โดยเสียงฝนตกมีความดังโดยประมาณอยู่ที่ 50 เดซิเบล – 70 เดซิเบล หากเลือกติดฉนวนพียูโฟม PU Foam จะทำให่้เสียงรบกวนที่มาจากภายนอกบ้านลดลง ทำให้ภายในบ้านเงียบ ลดมลภาวะทางเสียงได้เป็นอย่างดี จึงเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน ด้วยความแข็งแรง ทนทานมีอายุการใช้งานที่ยาวนานนับ 10 ปี  ช่วยประหยัดเวลาในการติดตั้งและประหยัดงบประมาณ

 

ตัวอย่างรูป แผ่นเมทัลชีท

     

      

 

 

 

Read More